ในการเล่นดัมมี่นั้นผู้เล่นต้องทำความเข้าใจกติกาดัมมี่ให้ละเอียดชัดเจนเพราะหากไม่เข้าใจกันจะทำให้เกิดปัญหาได้ คำอธิบายกติกานี้จะช่วยให้คลายข้อสงสัยในกติกาและนำไปใช้เล่นกันอย่างมีความสุข
การจับใหญ่ ดัมมี่เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มีเหตุผลเรื่องความสมดุล ของทิศทางการเล่นและตำแหน่งของผู้เล่น การเล่นดัมมี่ 4 คน ทุกคนจะมีตำแหน่งทั้งขาบน ขาล่าง และขาตรงข้ามซึ่งจะมีผลต่อการเล่นเพราะผู้เล่นแต่ละคนมีดวง ทักษะฝีมือที่ไม่เท่ากัน เช่นผู้เล่นที่มีฝีมือจะกันขาล่างไม่ให้เกิด ผู้เล่นที่ชอบเล่นมืดก็พยายามจะดักเอาโง่ขาบน ผู้เล่นขาตรงข้ามอาจจะดวงดีจั่วน็อก
เมื่อคุณนั่งนิ่งไม่น็อกเลยแสดงว่าดวงคุณเริ่มไม่ดีหรือขาบนเล่นแข็งมากกันคุณซะอยู่เลยดังนั้นการนั่งอยู่ที่เดิมนานๆ และไม่น็อกหรือกินแต้มจึงไม่ดีแน่ จึงต้องมีการจับใหญ่ใหม่ทุกๆ 1 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อเปลี่ยนดวงหรือตำแหน่งผู้เล่นคนอื่นนอกจากนี้การจับใหญ่ใหม่ยังเป็นการผ่อนคลายได้ยืดเส้นสาย พักสมองสักครู่แล้วมาเล่นเกมกันใหม่
การทำไพ่ การทำไพ่นี้ไม่ใช่ใครก็ได้ ต้องมีการจัดระเบียบผู้ที่มีสิทธิ์ทำไพ่ ทุกคนอยากทำไพ่ อยากแจกไพ่กันทั้งนั้นเพราะเป็นการเปิดดวงของตนเองถ้าดวงดีไพ่ก็ออกมาดี สวย ถ้าไม่ดีไพ่ก็ออกมาแหลก การทำไพ่นี้ไม่ได้หมายความว่าให้ผู้เล่นเก็บเลือกไพ่แล้วสับแบบโกง ผู้เล่นด้วยกันไม่ยอมแน่หากใครขืนมัวแต่เก็บเลือกไพ่อยู่เดี๋ยวตีมือเลย
การทำไพ่เริ่มจากการล้างไพ่ ผู้ทำไพ่ควรล้างหลาย ๆ ครั้งเพื่อให้ไพ่แตกกระจายออกจากนั้นรวบกองไพ่ขึ้นมาแล้วเคาะกับพื้นรวมเป็นสำรับแล้วสับให้ละเอียดหรือจะใช้การกรีดไพ่ผสมด้วยก็ได้ การทำไพ่ควรทำด้วยความคล่องแคล่ว ว่องไวและระมัดระวังอย่าทำไพ่หล่นจะทำให้เสียเวลาแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพและหากมีไพ่หงายในกองจั่วในระหว่างการเล่นก็จะทำให้ขาอื่นรู้ไพ่ได้
การตัดไพ่ การตัดไพ่ถือเป็นกติกาสำคัญข้อหนึ่งที่บังคับให้ผู้แจกต้องให้ผู้เล่นตัดไพ่เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งการจัดเรียงไพ่ เป็นการป้องกันการโกงการทำไพ่ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการโกง การตัดก็เป็นการป้องกันความผิดพลาดหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น แจกไพ่มาน็อกคามือ หรือตีโง่รอบแรก และผู้ตัดไพ่เองก็ต้องการตัดด้วยเพื่อความโชคดี
การตัดไพ่ที่ถูกต้องควรใช้มือข้างใดข้างหนึ่งตัดไพ่เพียงครั้งเดียว การตัดไพ่โดยใช้มือสองข้างตัดไพ่หลาย ๆ ครั้ง หรือชักเอาตรงกลางขึ้นมาเป็นการตัดที่ไม่เหมาะสม ดูเหมือนว่าผู้ตัดจะทำไพ่เสียเองและควรตัดไพ่ให้หนา อย่างน้อย 5 ใบ หรือควรตัดลึกให้เหลือไพ่อย่างน้อย 5 ใบขึ้นไป
การแจกไพ่ การแจกเวียนขวาหรือการแจกทวนเข็มนาฬิกาเป็นการแจกสำหรับการเล่นไพ่ทางเอเชีย อเมริกาใต้ ยุโรปตะวันออกและใต้ ส่วนการแจกไพ่เวียนซ้ายตามเข็มนาฬิกาเป็นการแจกไพ่ทางออสเตรเลีย รัสเซีย อเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตกและเหนือ
การแจกไพ่ผู้แจกต้องมีสมาธินับไพ่ขณะแจกอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าหากแจกไพ่ขาด แจกไพ่เกิน ผู้แจกต้องถูกปรับเสียแต้มรอบวงโทษฐานที่ไม่ระมัดระวังทำให้ขาอื่นเสียอารมณ์และเสียเวลา การแจกไพ่แรงหรือแจกไปถูกมือผู้เล่นจนไพ่หงายผู้แจกไม่ต้องถูกปรับแต่เสียสิทธิ์การแจกครั้งนั้นต้องเปลี่ยนให้ขาล่างแจกแทน ดังนั้นผู้แจกไพ่ที่ชำนาญจะต้องแจกไพ่ให้เร็วที่สุด ลับที่สุด และถูกต้องที่สุด ไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเลย
การจัดชุดไพ่ ข้อสำคัญ ไพ่ 1 ใบใช้จัดชุดได้เพียงหน้าเดียวเท่านั้นเมื่อนำมาจัดชุดเรียงแล้วจะไม่สามารถนำมาจัดชุดตองได้อีกหรือเมื่อนำมาจัดชุดตองแล้วก็จะไม่สามารถนำมาจัดชุดเรียงได้อีก ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น 5♧ 6♧ 7♧ 7♤ 7♡ ต้องเลือกจัดไพ่ 7 ดอกจิกเป็นชุดเรียงหรือตองหน้าใดหน้าหนึ่ง เปรียบเทียบกับการจัดไพ่ข้างล่างนี้
5♧ 6♧ 7♧ 7♤ 7♡ 7♢
การจัดชุดไพ่แบบนี้ถูกต้องเพราะจัดเป็น 2 ชุดคือ ชุดเรียงสีดอกจิกและชุดตอง 7 ผู้เล่นจึงควรยึดหลักการจัดไพ่ 3 ใบ เป็น 1 ชุด 6 ใบเป็น 2 ชุด 9 ใบ เป็น 3 ชุด จะทำให้ดูไพ่ได้ง่ายขึ้น ผู้เล่นต้องดูการจัดชุดให้ดีว่าเป็นการจัดชุดที่ถูกต้องหรือไม่เวลาที่มีผู้น็อก
การน็อกมืดดัมมี่ ไพ่ดัมมี่หมดทั้งมือ 7 ใบ จะน็อกมืดไม่ได้ ตามหลักการเล่นดัมมี่ที่เป็นสากล จะต้องผสมไพ่ให้รวมเป็นชุดเรียงหรือชุดตองและการจะได้แต้มนั้นก็ต้องเกิดจากการผสมไพ่ที่เป็นชุดนั้น การเล่นมืดก็เช่นเดียวกันจะต้องมีไพ่ชุดเรียงหรือตองอย่างน้อย 1 ชุดจึงสามารถน็อกมืดได้ ดังนั้นดัมมี่ 7 ใบ จึงน็อกมืดไม่ได้เพราะผิดหลักการการได้แต้มดังกล่าว
ในบางพื้นที่อาจจะกำหนดให้น็อกได้แต่ต้องเป็นดัมมี่ต่อชุดเรียงเฉพาะหัวหรือท้ายเพียง 1 ตำแหน่งเท่านั้นหรือเป็นดัมมี่ไพ่ชุดตอง และไพ่คว่ำก็ต้องเป็นดัมมี่ที่มีลักษณะดังกล่าวด้วย แต่อย่างไรก็ตามการเล่นดัมมี่ต้องจับคู่ไพ่ชุดก่อนและยังมีตัวกันอีกมากมายที่เป็นอุปสรรค โอกาสน็อกมืดดัมมี่แบบนี้จึงเกิดขึ้นยากมาก น็อกมืดสียังมีโอกาสมากกว่า
การสลับที่นั่งกันระหว่างผู้ตีโง่และผู้ได้โง่ จะช่วยแก้ปัญหานี้เพราะการแจกไพ่จะแจกเวียนขวาตลอดสอดคล้องกับความเคยชินในการเล่น และ ผู้ที่ตีโง่ก็ยังสามารถเอาโง่คืนได้เหมือนกันส่วนผู้ที่เล่นดีอยู่แล้วคงไม่อยากจะเวียนทางขวาเพราะนั่นคือการตีโง่แต่ถ้าเวียนทางซ้ายก็จะดีและจะดีมากถ้าเวียนทางซ้ายไปเรื่อยๆให้ครบรอบ การสลับที่นั่งกันมีข้อดีอีกอย่างคือผู้เล่นทุกคนมีโอกาสได้โง่หรือตีโง่กันขึ้นอยู่กับฝีมือของแต่ละคน การเล่น อาจจะมีการตีโง่และเอาคืนกลับกันไปมาหรือคนที่นั่งอยู่ใต้ขาแข็งก็เล่นยากขึ้นต้องพยายามเอาโง่ให้ได้แต่ถ้าไม่ได้ก็ยอมตีโง่หนีขาแข็งไปและหากขาแข็งได้โง่อีกก็เหมือนเป็นการสลับตำแหน่งผู้เล่นวนเวียนพบกันหมดแบบนี้จึงมีความสนุกสนานมาก
การตีปี้ ตีกัน หลักการตีไพ่ปี้ ตีตัวกัน กติกาจะกำหนดไว้ภายใน 1 รอบ หากไม่มีผู้เก็บลงได้ ผู้ตีไม่ต้องรับผิดชอบเสียแต้มแทนขาอื่น และยังมีหลักการเก็บไพ่ปี้ เก็บไพ่ตัวกันอื่นอีกคือการเก็บไพ่ปี้ให้ผู้เก็บเอาไพ่เพียง 1 ใบลงมาเก็บไพ่ปี้เท่านั้น การตีปี้หัวหน้าเรียงทั้ง 2 คนถ้ามีผู้เก็บหัวได้ให้เสียค่าปี้หัวทั้ง 2 คน การตีตัวกันสเปโตหากผู้ใดมีสเปโตเก็บได้ผู้ตีตัวกันต้องเสียค่าสเปโตแทนขาอื่น การตีตัวกันสเปโตหน้าเรียงทั้ง 2 คนให้เสียค่าสเปโตทั้ง 2 คนถ้ามีผู้เก็บลงสเปโตได้
มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือการตีปี้หัวตัวกันสเปโตและการตีตัวกันสเปโตปี้หัวซึ่งทั้งสองเหตุการณ์มีความรับผิดชอบไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง ไพ่หงายหัวตัวกัน J โพดำถ้าผู้เล่นตี 10 โพดำหรือ K โพดำ ผู้มี Q โพดำเกิดได้ผู้ตีปี้เสียสองเท่าแต่ถ้าผู้เล่นตี 9 โพดำและผู้เก็บไพ่สามารถเก็บไพ่หัว 10 J Q ได้ กรณีนี้ผู้ตี 9 ไม่ต้องเสียค่าตีปี้เพราะการเก็บไพ่ปี้ต้องเอาไพ่ใบเดียวมาเก็บเช่นดียวกับการตี 5 ดอกจิกปี้หัว 3 ดอกจิก ผู้ตีปี้ไม่ต้องเสียค่าตีปี้หากมีผู้เก็บ 2 3 4 ดอกจิกได้ตามหลักการเก็บไพ่ปี้
อีกกรณีหนึ่งคือไพ่หงายหัว 5 ดอกจิกและมีผู้ตี 3 ดอกจิกปี้หัว หากมีผู้เก็บ 2 3 4 5 ดอกจิกได้ ผู้ตี 3 ดอกจิกต้องเสียทั้งค่าตีตัวกันและค่าตีปี้หัวด้วย หรือถ้ามีผู้ตี 2 ดอกจิกปี้ 3 ดอกจิกกรณีนี้ถ้าใครมี 4 ดอกจิกลงมาเกิดได้ให้แบ่งเหมาเสียแต้มรอบวงกันไปทั้งสองคน ผู้ที่ตีปี้หัวให้เหมาเสียค่าหัวและผู้ที่ตี 2 ดอกจิกให้เหมาเสียค่าตีปี้ตัวกันแต่ถ้าหากมีการเกิดสเปโตอีกหน้าหนึ่งไปแล้ว การตีปี้หัวก็ให้เสียแต้มแทนขาอื่นตามปกติ
การตีปี้หัวตัวกันสเปโต กรณีที่ไพ่หัวตัวกันสเปโตเป็น J โพดำ ผู้เล่นตี Q โพดำปี้หัว อีกคนตี A โพดำปี้ Q โพดำ ใครจะต้องเสียเท่าไรบ้างหากมีผู้ถือ K โพดำลงมาเก็บได้ ผมขอให้ยึดหลักการใช้ไพ่ใบเดียวลงมาเก็บไพ่ปี้ดังนั้นผู้ตี Q โพดำปี้หัวเสีย 2 เท่า ส่วนผู้ตี A ปี้ Q โพดำก็ต้องเสียค่าปี้สเปโตด้วย
การตีตัวกันสเปโต จำไว้ว่าการตีตัวกันสเปโตถ้ามีใครเก็บลงสเปโตได้ผู้ตีต้องเสียค่าสเปโต เช่นไพ่หัว 10 โพดำ และมีผู้ตีตัวกัน K โพดำ มีผู้เก็บหัว 10 J Q ได้ ผู้ตีตัวกัน K โพดำต้องเสียค่าสเปโตด้วย และถ้า 10 โพดำไม่ใช่ไพ่หัว ตามกติกาใครก็ตามที่ตีตัวกันสเปโตหน้าเรียงทั้งสองคนหากมีผู้เอาสเปโตลงมาเก็บได้ให้เสียค่าสเปโตทั้งสองคน
การเก็บไพ่ การลงไพ่ หลักการเก็บไพ่ ผู้เล่นเก็บไพ่ในกองมาต้องลงไพ่ใบนั้นเพื่อทำเป็นชุดเรียงหรือตองลงมาด้วย จะเอาไปเข้าชุดอื่นหรือเอาไพ่ใบอื่นมาลงแทนไม่ได้ ผู้เล่นจะไม่สามารถเก็บไพ่หรือลงไพ่ให้ขาอื่นเอาสเปโตมาฝากเป็นดัมมี่ได้แม้ว่าจะเป็นการเก็บไพ่หัวก็ตาม เว้นแต่การเก็บไพ่นั้นทำให้การ ฝากดัมมี่สเปโตอยู่ห่าง 2 ตำแหน่ง เช่น การเก็บไพ่หัว 8 9 10 โพดำ หรือ 4 5 6 ดอกจิก ผู้เล่นสามารถเก็บได้ และถ้าไพ่หมดกองแล้วขาสุดท้ายจะลงชุด 2 ขาว หรือตอง Q ขาว หรือฝากดัมมี่เรียง 3 ดอกจิกเพื่อแข่งแต้มได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้เช่นกันเพราะไม่รู้ว่าสเปโตอยู่กับใครจึงต้องป้องกันไว้ก่อน
นอกจากนี้แล้วกติกายังมีความเข้มงวดในการเล่นเพื่อให้ผู้เล่นได้ใช้ความคิดอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะเมื่อได้ตัดสินใจทำไปแล้วผู้เล่นจะไม่สามารถเอากลับคืนมาได้เช่นการโชว์ไพ่ว่าจะเกิด ต้องเกิด และต้องเกิดไพ่เพียงครั้งเดียวจะมาเก็บอีกไม่ได้ การลงไพ่ก็เช่นเดียวกันคือ ลงไพ่แล้ว ลงเลยห้ามเอาขึ้น ถ้าลงไพ่ไม่ตันแล้วขาอื่นต่อดัมมี่น็อกได้ ผู้ลงจะต้องเหมาเสียแต้มทั้งหมดแทนขาอื่น ดังนั้น จึงควรศึกษากติกาให้ละเอียดและตัดสินใจเล่นให้รอบคอบจะได้ไม่เกิดความผิดพลาด
การแยกค่าเสียแต้มที่ชัดเจน ในการเล่นรอบหนึ่งและการตีไพ่ปี้หรือตัวกันครั้งหนึ่ง ผู้ตีอาจจะเสียต่าตีปี้หรือค่าตัวกันหรือค่าอื่น ๆ ตามกติการวมกันได้หรือเรียกว่ามีความผิดหลายอย่างในการตีครั้งเดียว ยกตัวอย่าง ผู้เล่นตีไพ่เต็มชุด ไพ่ที่ตีนั้นเป็นดัมมี่ และยังเป็นตัวโง่อีก ผู้ตีจึงต้องเสียรอบวงถึง 3 ต่อคือ ตีเต็ม ตีดัมมี่และตีโง่
ในกรณีที่ผู้ตีตีเต็มชุดสเปโตและขาอื่นสามารถเก็บไพ่เหนือชุดสเปโตนั้นหรือเกิดไพ่ชุดสเปโต ผู้ตีต้องเสียค่าตีเต็มชุดรอบวงและค่าชุดสเปโตแทนขาอื่นให้ผู้ลงด้วย การตีเต็มชุดสเปโตจึงเป็นการตีที่เสี่ยงเสียแต้มสองเด้ง การอมสเปโตไว้คว่ำน็อกจะได้ค่าอม 2 เท่าและถ้าสเปโตนั้นเป็นดัมมี่ด้วยก็ให้เพิ่มค่าดัมมี่อีก 1 เท่า เช่นมีผู้เกิดหัว 4 5 6 ดอกจิก และผู้น็อกมีไพ่ 7 ใบ 2 ชุดถือสเปโต 2 ดอกจิกไว้แล้วจั่ว 3 ดอกจิกฝาก มี 2 ดอกจิกเป็นดัมมี่สเปโตคว่ำน็อก นอกจากนี้การเก็บหัวตัวกันสเปโตผู้ที่เก็บหัวและน็อกได้จะได้ค่าอมสเปโต 2 เท่าบวกค่าหัว 1 เท่ารวมเป็น 3 เท่าและค่าน็อกต่างหาก จะเห็นได้ว่ากติกานี้คิดค่าการเล่นแยกไว้อย่างขัดเจน
ความรับผิดชอบในการทำผิดกติกา ผู้ทำผิดกติกาจะต้องถูกลงโทษและรับผิดชอบเสียแต้มตามที่กติกากำหนดไว้ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ข้อดังนี้
1. เหมาเสียแต้มรอบวง เป็นผลมาจากการเสี่ยงไพ่เพื่อประโยชน์ของไพ่ผู้เล่น เช่น การอมสเปโต การตีโง่ การตีดัมมี่ การตีเต็มชุด
2. เหมาเสียแต้มแทนขาอื่นให้กับผู้ที่สามารถเก็บค่านั้นได้ เพราะผู้เล่นขาอื่นไม่ได้เป็นผู้ทำให้เกิดค่านั้น เช่น การตีปี้หัว หรือสเปโต การตีตัวกัน ผู้ตีปี้ตีกันต้องรับผิดชอบค่าการเล่นนั้นภายใน 1 รอบ หากเกินรอบแล้วให้เสียกันทุกคน
3. เหมาเสียแต้มค่าการเล่นทั้งหมดที่ผู้น็อกมีและขาอื่นมีตามความผิดในกติกาข้อ 82
4. ปรับเสียแต้มรอบวงถ้าผู้เล่นน็อกผิดหรือเก็บไพ่ในกองทิ้งแล้วไม่สามารถลงได้หรือการแจกไพ่ขาด แจกไพ่เกิน ผู้แจกผิดต้องถูกปรับเสียแต้มรอบวงตามที่ตกลงกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความผิดพลาดของผู้เล่นเองและทำให้ไพ่ผู้อื่นเสียหายด้วย ผู้ทำผิดจึงต้องรับผิดชอบและให้เล่นเกมใหม่
ในรอบการเล่นถ้ามีผู้ทำผิดคนเดียวให้รับผิดชอบคนเดียว ถ้าทำผิด 2 คน ให้รับผิดชอบ 2 คน เช่น การตีตัวกันสเปโตหน้าเรียงทั้ง 2 คน ขาหนึ่ง ตี 10 โพดำ อีกขาหนึ่ง ตี K โพดำ ถ้ามีผู้นำ J Q โพดำมาเกิดได้ ผู้ตี 10 และ K โพดำ ต้องเสียแต้มแทนขาอื่นอีก 2 ขาให้ผู้เกิดได้ การตีปี้หัวหน้าเรียงทั้ง 2 คน ให้เสียทั้ง 2 คน
ถ้าผู้เล่น 2 คน ลงฝากดัมมี่ไม่ตัน 2 คน และอีกคนตีโง่สาเหตุจากการลงไพ่ไม่ตันทั้ง 2 คนนั้น ผู้ที่ลงไพ่ไม่ตันทั้ง 2 คนต้องร่วมกันรับผิดชอบการเหมาเสียแต้มทั้งหมดจำนวนเท่า ๆ กันให้กับผู้น็อก ผู้ตีโง่ไม่ต้องเสียจากเหตุการณ์นี้ การตีปี้ให้ขาล่างน็อกก็ใช้หลักการนี้เช่นเดียวกันใครทำผิดลงไพ่ไม่ตันต้องรับผิดชอบ
การปรับเสียแต้มรอบวง กติกานี้ตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้เล่นมีความตั้งใจในการแจกไพ่และการตัดสินใจให้รอบคอบ ดูไพ่ให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะน็อกหรือเก็บไพ่ ให้มั่นใจว่าน็อกหรือเก็บไพ่ได้อย่างถูกต้องหากทำผิดจะถูกลงโทษปรับเสียแต้มรอบวงเพราะทำไพ่ขาอื่นเสียหายจากโอกาส การน็อกหรือกินแต้ม กติกานี้จะเกิดขึ้นได้ยากเพราะผู้เล่นเป็นระดับเซียนกันทั้งนั้น การเล่นจึงผิดพลาดน้อยมาก
การจะปรับเสียแต้มมากน้อยเท่าไรให้ผู้เล่นตกลงกันเองก่อนเล่นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่าไม่บอกกัน การคิดปรับเสียแต้มเท่าไรกติกาไม่ได้บอกไว้ตรง ๆขอยกตัวอย่างไว้เป็นแนวทางเช่น การแจกขาดให้นับตั้งแต่ผู้แจกแจกไพ่ 6 ใบแล้วหงายหัว ส่วนการแจกเกินให้นับตั้งแต่การแจกไพ่ใบที่ 8 เลย การแจกขาดแจกเกินเป็นความผิดเล็กน้อยอาจจะปรับเสียแต้มรอบวงแค่อัตราเสียน้อยก็ได้
การน็อกผิดกติกาและผู้น็อกหงายไพ่ออกมาแล้วว่าติดไพ่ไม่เข้าพวก 1 ใบแม้ว่าจะถือไว้อีก 1 ใบก็ตามก็ต้องถือว่าเป็นการน็อกผิด การปรับเสียแต้มอาจจะเพิ่มเป็น 2 เท่า ของอัตราเสียกลาง หรือจะให้ปรับแรงมากกว่านั้นก็ได้ วิธีการนี้คือผู้เล่นทั้งหมดนับเสียแต้มกันคนละเท่าไร จัดตามลำดับขั้น รวมค่าน็อกด้วย มีคนอมหรือไม่ คิดเสียรวมทั้งหมดแล้วลงโทษผู้น็อกผิดให้เอา 3 หารเฉลี่ยแจกแต้มคืนให้ผู้เสียรอบวงคนละเท่า ๆ กันหรือพูดง่าย ๆ คือถ้าน็อกแล้วได้ขาละเท่าไหร่แต่ยังไม่ได้ก็ให้เสียคืนกลับไปเท่านั้น การปรับน็อกผิดต้องเอาให้หนัก คราวหน้าจะได้ไม่ทำผิดอีก ส่วนการรวบไพ่ไปแล้วลงไม่ได้ก็คิดเช่นเดียวกันแต่ไม่มีค่าน็อก
การคิดแต้ม ผู้เล่นดัมมี่ที่ดีต้องคิดแต้มหลังจบเกมแล้วให้เป็นด้วยบางคนเล่นเป็นอย่างเดียวแต่คิดแต้มไม่เป็นอาจจะถูกโกงได้ การคิดแต้มที่ง่ายที่สุดคือคิดไปตามค่าการเล่นที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การเล่นในระดับเสียน้อย 100 เสียกลาง 200 เสียมาก 300 ถ้ามีการน็อกเกิดขึ้น คิดค่าน็อกคนละ 200 ผู้เสียแต่ละคนตามลำดับขั้นจะเป็น 300 - 400 - 500 ถ้าผู้น็อกคว่ำสเปโตน็อก จะเป็น 500 - 600 -700 กรณีถ้ามีการตีโง่เกิดขึ้น คิดง่ายสุดคือเสียค่าโง่รอบวงให้ไปทีละขาเพื่อความแน่นอน
แต่ถ้าให้คิดง่ายและรวดเร็วต้องใช้สูตร ผู้ตีโง่เสียมาก 300 เสียค่าโง่รอบวง เท่ากับ 200 X 3 แต่ผู้น็อกได้ค่าโง่ 2 เท่าจึงต้องบวกอีก 1 จาก x 3 เป็น x 4 และรวมค่าน็อกอีก 1 จาก X 4 จึงเป็น x 5 อันนี้คือที่มาว่า ทำไมต้อง คูณ 5 รวมแล้วผู้เสียเสียแต้มทั้งหมดคือ ค่าโง่รวมค่าน็อกบวกเสียมาก 200 x 5 + 300 เท่ากับ 1,300 ขาอื่นเสียตามลำดับขั้นไม่ต้องเสียค่าน็อกเพราะผู้ตีโง่ช่วยเสียแทนให้แล้ว
การคิดน็อกมืดหรือน็อกสีก็คิดไปตามจำนวนเท่ากี่เท่าให้จำนวนนั้นคูณ เช่น 2 เท่าก็ 2 คูณ 3 เท่าก็ 3 คูณ ตามค่าการเล่น ถ้ามืดชนมืดผู้เสียมืดชนมืดเอา 4 คูณเสียมาก ถ้ามีการอมสเปโตด้วยก็คิดตามสูตรในกติกาเลย พอเล่นไปนาน ๆ ในระดับการเล่นนี้ก็จะรู้ทันทีเลยว่า เกิดแล้วตีโง่เสียเท่าไหร่ ตีโง่ด้วย อมสเปโตด้วย เท่าไหร่ ลองฝึกคิดดู ไม่ยาก อย่าเป็นลมก่อนนะครับ
การปรับระดับการเล่น ผู้เล่นสามารถปรับอัตราการเล่น ระดับการเสียแต้มลงมาได้ตามที่ต้องการเช่น เล่นกันในระดับ 80 - 100 - 120 ระดับนี้ ค่าการเล่นอยู่ที่ 100 เป็นระดับมาตรฐานไม่มากหรือน้อยเกินไป หรือลงมา 60 - 80 - 100 ก็ได้หรือจะเป็น 40 - 60 -80 ระดับนี้เป็นระดับที่เล่นกันเบา ๆ แบบไม่เครียดมาก ไม่ว่าระดับใด ก็ใช้วิธีการคิดแต้มตามสูตรเดียวกัน
ข้อสังเกตในการตั้งระดับการเล่น การดูว่าการตั้งค่าการเล่นเเหมาะสมหรือไม่นั้นให้ดูที่ระดับค่ากลางหรือค่าเสียกลาง เมื่อนำมาคูณด้วย 3 แล้วจะต้องได้เท่ากับผลของค่ารวมของค่าเสียน้อย เสียกลางและเสียมาก เช่น การเล่นระดับ 80 - 100 - 120 ค่าการเล่นอยู่ที่ 100 เมื่อนำ 100 คูณด้วย 3 เท่ากับ 300 จะเท่ากับ ผลรวมของ เสียน้อย 80 บวก เสียกลาง 100 บวกเสียมาก 120 เท่ากับ 300 เท่ากันพอดีเป็นการเล่นที่เหมาะสม
ส่วนสาเหตุที่ต้องคูณด้วย 3 มาจากการเล่นต้องมีการลงทุนแจกรอบวง 3 ขา เมื่อคุณได้กินแต้มคุณก็จะได้รับแต้มจากผู้เสียทุกคนรวมกันแล้วเป็นจำนวนเท่ากันกับที่เสียไปคืนมา บางท่านอาจสงสัยว่า ถ้าตั้งระดับการเล่นที่ 60 -100 - 140 ได้หรือไม่ ลดการเสียน้อยและเพิ่มเสียมาก ก็ต้องบอกอยู่ที่ผู้เล่นตกลงกัน ขอให้คิดค่าเสียกลาง x 3 แล้วเท่ากันกับผลรวมของอัตราการเสียทั้ง 3 ระดับ ถือว่าเล่นได้หมดครับ
ปัญหาการเล่น
หากผู้เล่นระดับเซียนเล่นกันโดยเคารพกติกามักจะไม่ค่อยเกิดปัญหา กติกาบางข้อแทบไม่ได้นำมาใช้หรือมีผู้ทำผิดเลย หากมีปัญหาเกิดขึ้นและไม่มีอยู่ในกติกาก็ให้ผู้เล่นหาทางแก้ไขร่วมกัน หากเสียงส่วนใหญ่เห็นสมควรให้ออกเป็นกติกาเลยก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้กติกามีผลบังคับใช้กับทุกคน
กติกาดัมมี่น็อกจะใช้บังคับสำหรับผู้ที่ทำผิดข้อสำคัญเป็นหลักถ้าหากเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยเป็นเหตุบังเอิญ นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งหรือเห็นว่าผู้เล่นสามารถตกลงกันได้ก็จะไม่นำมาเขียนไว้ในกติกาเช่น การแจกไพ่หงาย บางครั้งผู้แจกอาจไม่ได้ตั้งใจหรือผู้เล่นยื่นมือออกไปถูกไพ่โดยบังเอิญไพ่ก็เลยหงาย บางสถานที่ที่ไม่ได้เป็นห้องปิดก็อาจจะมีลมพัดระหว่างแจกได้ การแจกไพ่หงายไม่ต้องเสียค่าปรับ
เมื่อเล่นเกินรอบแรกไปแล้ว ปรากฎว่ามีผู้เล่นมืดถือไพ่ขาดหรือไพ่เกินจะทำอย่างไร ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากความผิดพลาดของผู้เล่นมืดที่ถือไพ่ขาด ไพ่เกินนั้นไม่บอกตั้งแต่แรกจะปรับผู้แจกไพ่ก็ไม่ได้เพราะเกินรอบแรกแล้ว การแก้ปัญหาผู้เล่นอาจตกลงยกเลิกเกมนั้น ค่าอื่นที่เก็บไปเช่น ค่าหัว ค่าสเปโตจะต้องคืนผู้เล่นและต่อไปจะต้องปรับผู้เล่นมืดนั้นที่ไม่บอกว่าได้ไพ่ไม่ครบเพราะมีเจตนาทำให้ไพ่ขาอื่นเสียหาย
หรือในกรณีเล่นไปไพ่ใกล้จะหมดกองแล้วพบไพ่หงายโดยบังเอิญซึ่งเป็นความผิดพลาดของผู้แจก บางทีการถามย้อนว่าใครเป็นผู้แจกเพื่อจะเอาค่าปรับก็อาจนึกนานไป แล้วจะทำอย่างไรเมื่อพบไพ่หงาย ใครจะเอาเพราะทุกคนเห็นหมดแล้ว ต้องคว่ำใบนั้นแล้วจั่วตามคิวไหมหรือจะให้สับไพ่ ใครจะเป็นผู้ทำ สิ่งเหล่านี้ผู้เล่นต้องไปตกลงกันเอง
กติกาดัมมี่น็อกที่มีความละเอียด เข้มข้นนี้ก็มาจากปัญหาการเล่นส่วนหนึ่งแต่สิ่งสำคัญที่สุดเกิดจากบรรดาเซียนดัมมี่ที่ช่วยกันคิดสร้างสรรค์ทำให้การเล่นดัมมี่น็อกของไทยสนุกสนาน ตื่นเต้น ท้าทายไม่แพ้ดัมมี่ของฝรั่งและถ้าเห็นว่ามีกติกาการเล่นในข้อใดมีความบกพร่องหรือต้องการปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมเรื่องใด ขอเชิญเสนอแนะได้เลย ด้วยความยินดีครับ